Select Language

หมายเลข
2
วัดเทนเนอิจิ(เมืองฟุคุจิยามะ)

แนะนำวัด: ชมสมบัติประจำชาติที่วัดทั้ง 10 แห่งในโอคุเกียวโต

วัดเท็นเนอิจิ

วัดเท็นเนอิจิคือวัดในสังกัดของสำนักเมียวชินจิ นิกายรินไซ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 นิกายหลักของพุทธศาสนานิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดนี้เคยเจริญรุ่งเรืองเคียงคู่มากับวัดบุตสึจิในจังหวัดอาคิ (ปัจจุบันคือจังหวัดฮิโรชิม่า) โดยเป็นหนึ่งในวัดผู้นำของสำนักกุชู ซึ่งเป็นหนึ่งใน 24 สำนักของพุทธศาสนานิกายเซน สำนักแห่งนี้ได้รับการตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้ง คือ กุชู ชูกิว โดยท่านเริ่มฝึกตนเป็นพระสงฆ์ตั้งแต่ยังเด็กในจังหวัดมิโนะ (ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดกิฟุ) จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่เกียวโตเมื่ออายุ 13 ปี เพื่อศึกษากับพระสงฆ์นิกายเซน มูโซ โซเซกิ และได้ออกจากญี่ปุ่นเมื่ออายุ 19 ปี เพื่อศึกษาที่วัดจินซานในเมืองเจิ้นเจียง ประเทศจีน โดยมีพระสงฆ์จี้ซิ่วฉีเหลียวเป็นพระอาจารย์

กุชูได้สร้างวัดเท็นเนอิจิขึ้นในปี ค.ศ. 1365 หลังจากกลับสู่ญี่ปุ่น นอกเหนือจาก 2 มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นสมบัติชาติแล้ว ยังมีภาพเหมือนของพระสงฆ์จี้ซิ่วฉีเหลียวบนผ้าไหม และภาพพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า 16 รูปบนผ้าไหมด้วย บริเวณวัดยังมีอาคารหลายหลังที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603–1868) แม้ว่าอาคารหลายหลังจะถูกทำลายและบูรณะขึ้นใหม่หลังจากเกิดเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1777 และ ค.ศ. 1961

แต่อย่างไรก็ตาม อาคารทั้ง 2 หลังนั้นรอดพ้นจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งที่ 2 และยังคงสภาพสถาปัตยกรรมสมัยศตวรรษที่ 18 ไว้ได้: ยาคุชิโด (โถงยาคุชิ) ที่อุทิศให้กับพระไภษัชยคุรุ พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งยารักษาโรค (หรือยาคุชิเนียวไรในภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งมีภาพวาดบนเพดานเป็นภาพมังกรและเมฆที่วาดโดยศิลปินฮาระ ไซชู และไคซังโด (โถงก่อตั้งวัด) ซึ่งออกแบบเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม มีผนังฉาบปูน และประดิษฐานรูปเคารพของท่านกุชู และท่านจี้ซิ่ว

  • วัดเท็นเนอิจิ1
  • วัดเท็นเนอิจิ2

มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญภาพเหมือนของพระสงฆ์จี้ซิ่วฉีเหลียวบนผ้าไหม

ภาพเหมือนสีบนผ้าไหมของพระสงฆ์จีนจี้ซิ่วฉีเหลียวนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในญี่ปุ่นในชื่อ ชิคคิวเคเรียว ทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1344 โดยมีความสูง 89 เซนติเมตร กว้าง 34 เซนติเมตร (ประมาณ 35 × 13 นิ้ว)

ลักษณะใบหน้าได้รับการวาดอย่างพิถีพิถันและใส่ใจในรายละเอียด ตรงกันข้ามกับเครื่องแต่งกายของท่านจี้ซิ่วที่ได้รับการวาดอย่างเรียบง่าย ภาพวาดนี้ได้ถูกมอบให้กับพระอาจารย์เซ็น กุชู ชูกิว เมื่อท่านกลับจากจีนมาสู่ญี่ปุ่น เพื่อเป็นการแสดงความยอมรับในการสืบทอดคำสอนของพระอาจารย์ของท่าน ตัวอักษรที่มุมขวาล่างเขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1400 โดยท่านกุชู ผู้ก่อตั้งวัดเท็นเนอิจิ โดยมีใจความแสดงถึงความปรารถนาของท่านที่ต้องการส่งภาพเหมือนนี้ให้อยู่เคียงคู่วัดเท็นเนอิจิตลอดไป

ท่านจี้ซิ่วเป็นที่ปรึกษาของท่านกุชู และครั้งหนึ่งท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีผู้ใดในประเทศจีนที่เข้าใจคำสอนของเรา เว้นแต่ท่านกุชูผู้ที่เดินทางมาจากญี่ปุ่นเท่านั้น”

  • ภาพเหมือนของพระสงฆ์จี้ซิ่วฉีเหลียวบนผ้าไหม

มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า 16 รูปบนผ้าไหม

ภาพบนผ้าไหมทั้ง 16 ภาพนี้แสดงถึงพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง 16 รูปขณะที่พวกท่านยังคงอยู่บนโลกนี้หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วเพื่อสั่งสอนหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา โดยเชื่อกันว่าภาพวาดเหล่านี้ได้รับการวาดขึ้นในช่วงยุคมุโรมาจิตอนต้น (ค.ศ. 1336–1573)

ลี่ หลงเมี่ยน ผู้เป็นจิตรกร ได้วาดเหล่าอัครสาวกในกิริยาที่สงบและสันติ ในขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดความสมจริงและความมีสีสันออกมาให้เห็นด้วย ลี่ได้ใช้ลายเส้นบางๆ เพื่อถ่ายทอดใบหน้าที่ดูค่อนข้างแปลกอย่างละเอียด ในขณะที่ใช้ลายเส้นที่หนาและทึบสำหรับเสื้อผ้าเพื่อสร้างความมีชีวิตชีวา

แต่ละชิ้นสูง 119 เซนติเมตร และกว้าง 56 เซนติเมตร (ประมาณ 47 × 22 นิ้ว) ภาพวาดเหล่านี้ถือเป็นภาพวาดพระอรหันต์ที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองฟุกุจิยะมะ และการเก็บรักษาชุดภาพวาดทั้ง 16 นี้ไว้ ได้ทำให้ภาพวาดเหล่านี้มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับนักวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา มีเรื่องเล่ากันว่าภาพวาดเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยถูกเก็บรักษาไว้ใกล้กับปราสาทอิซากิ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) แต่ช่วงที่มีการโจมตีป้อมปราการในศตวรรษที่ 16 ภาพวาดเหล่านี้ก็ถูกลักลอบนำออกมาและนำไปไว้ที่วัดเท็นเนอิจิ เพื่อป้องกันการสูญเสียก่อนเวลาอันควร

  • พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า 16 รูปบนผ้าไหม1
  • พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า 16 รูปบนผ้าไหม2